Lafayette, Marie-Joseph-Paul-Yves-Roch-Gilbert du Motier, Marquis de (1757-1834)

มารี-โชแซฟ-ปอล-อีฟว์-รอช-ชิลแบร์ ดู โมตีเย มาร์กี เดอ ลาฟาแยต (๒๓๐๐-๒๓๗๗)

​     ​มารี-โชแซฟ-ปอล-อีฟว์-รอช-ชิลแบร์ ดู โมตีเย มาร์กี เดอ ลาฟาแยตเป็นนายทหารฝรั่งเศสที่มาจากตระกูลสูง เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักเขียนในสมัยภูมิธรรม (Enlightenment) ซึ่งทำให้เขาสนใจการปฏิรูปสังคมและการเมืองที่จะทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ลาฟาแยตจึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับชาวอาณานิคมอเมริกันในการเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ และโน้มน้าวรัฐบาลฝรั่งเศสให้ช่วยเหลือชาวอเมริกันที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในครั้งนี้ ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution 1789)* ลาฟาแยตร่วมมือกับนักปฏิวัติชนชั้นกลางเพื่อสร้างระบบสังคมและการเมืองที่เป็นธรรมต่อชาวฝรั่งเศสมากขึ้น บทบาทดังกล่าวทำให้เขาได้รับยกย่องทั้งในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสในช่วงต้น ๆ ของการปฏิวัติ ชื่อของเขายังคงเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งแห่งตำนานมิตรภาพระหว่าง ๒ ประเทศ
     ลาฟาแยตเกิดเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ค.ศ. ๑๗๕๗ ที่ปราสาทชาวานียา (Chavaniac) ในแคว้นโอแวร์ญ (Auvergne) ซึ่งอยู่ตอนกลางของฝรั่งเศส ต้นแม่น้ำลัวร์ (Haute-Loire) ครอบครัวเป็นตระกูลขุนนางทหารเก่า บิดาลาฟาแยตเสียชีวิตในสมรภูมิ ส่วนมารดา

มาจากตระกูลที่มีฐานะร่ำรวย เมื่อมารดาเสียชีวิตลงใน ค.ศ. ๑๗๗๐ ลาฟาแยตซึ่งอายุเพียง ๑๓ ปีก็ได้รับมรดกที่มั่งคั่งนั้น เขาเข้าเรียนในวิทยาลัยเปลซี (Collége du Plessis) ในกรุงปารีส และรับราชการเป็นทหารประจำพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI ค.ศ. ๑๗๕๔-๑๗๙๒)* ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๗๑ อีก ๓ ปีต่อมา ลาฟาแยตสมรสกับอาเดรียน เดอ โนอาย (Adrienne de Noailles) บุตรสาวของดุ๊กดายอง (Duc d’Ayen) ซึ่งมีอิทธิพลในราชสำนักฝรั่งเศสทำให้ฐานะของเขาในหมู่ชนชั้นสูงและข้าราชสำนักมั่นคงขึ้น
     ความสนใจใฝ่หาชื่อเสียงจากการเป็นทหารและแรงกระตุ้นด้านความคิดสมัยภูมิธรรมของฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ทำให้ลาฟาแยตและขุนนางหนุ่มจำนวนหนึ่งสนใจการต่อสู้ของอาณานิคมอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ หลังจากที่ชาวอาณานิคมได้ประกาศเอกราชจากอังกฤษใน ค.ศ. ๑๗๗๖ แล้ว ลาฟาแยตต้องการไปช่วยชาวอาณานิคมอเมริกันซึ่งกำลังทำสงครามกับอังกฤษในสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกัน เขาเห็นว่าข้อเรียกร้องของชาวอเมริกันเป็นสิ่งที่พึงสนับสนุน การให้ประชาชนมีเสรีภาพตรงกับอุดมการณ์ของเขา นอกจากนี้ การร่วมมือกับชาวอเมริกันรบกับอังกฤษเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าพึงกระทำเพื่อล้างอายจากสงคราม ๗ ปี (Seven Years’ War ค.ศ. ๑๗๕๖-๑๗๖๓) ที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อังกฤษจนต้องสูญเสียอาณานิคมโพ้นทะเลหลายแห่ง แม้เพื่อนฝูงของเขาจะถูกครอบครัวขัดขวางไม่ให้เดินทางไปทวีปอเมริกาเหนือ และรัฐบาลฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยและยังวางตนเป็นกลางในความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษอยู่ก็ตาม แต่ลาฟาแยตก็ยังคงกระทำตามความมุ่งมั่น
     ลาฟาแยตออกเดินทางในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๗๗ โดยซื้อเรือเองและก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ลาอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลฝรั่งเศส ลาฟาแยตบอกจุดมุ่งหมายการเดินทางในจดหมายที่เขียนถึงครอบครัวในเวลาต่อมาว่าต้องการสร้างชื่อเสียงจากการร่วมต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพราะเห็นว่าประโยชน์สุขของชาวอเมริกันในอนาคตเกี่ยวข้องกับความผาสุกของมนุษยชาติ เขาขึ้นฝั่งที่รัฐเซาท์แคโรไลนา (South Carolina) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๗๗ สภาคองเกรสของอเมริกาจำยอมให้ลาฟาแยตเข้าเป็นทหารอาสาสมัครโดยไม่ได้รับเงินเดือนภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลจอร์จ วอชิงตัน (George Washington ค.ศ. ๑๗๓๒-๑๗๙๙) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอเมริกา
     ในเดือนกันยายนปีนั้น ลาฟาแยตได้รับบาดเจ็บในการรบที่แบรนดีไวน์ (Brandywine) รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) แต่ก็ยังคงรบกับฝ่ายอังกฤษต่อไป ในเดือนพฤศจิกายน เขาได้มีกองทหารภายใต้การบัญชาการและได้รับแต่งตั้งเป็นพลตรี ในฤดูหนาว ค.ศ. ๑๗๗๗ ลาฟาแยตประจำการที่แวลลีย์ฟอร์จ (Valley Forge) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาได้เริ่มสานมิตรภาพกับจอร์จ วอชิงตันซึ่งเขาได้รักษามิตรภาพนี้ไว้ชั่วชีวิต ใน ค.ศ. ๑๗๗๘ เขาถูกส่งไปรบในสมรภูมิต่าง ๆ ได้แก่ ที่ออลบานี (Albany) รัฐนิวยอร์ก (New York) ที่บาร์เรนฮิลล์ (Barren Hill) รัฐเพนซิลเวเนีย ที่มอนมัท (Monmouth) รัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey) และที่พรอวิเดนซ์ (Providence) รัฐโรดไอแลนด์ (Rhode Island) ในต้น ค.ศ. ๑๗๗๙ ลาฟาแยตได้รับอนุญาตให้ลากลับไปฝรั่งเศส ในช่วงลาพัก ๑ ปีนี้ เขาสามารถโน้มน้าวให้รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ส่งทหารฝรั่งเศสจำนวน ๖,๐๐๐ คนไปช่วยชาวอาณานิคมรบนอกจากนี้เขายังได้บุตรชายคนหนึ่งซึ่งตั้งชื่อว่า จอร์จ วอชิงตัน ลาฟาแยต ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๘๐ เขาเดินทางกลับไปอเมริกาและนำข่าวไปแจ้งนายพลวอชิงตันว่ากองทหารฝรั่งเศสขนาดใหญ่กำลังจะตามมาสมทบ
     ต่อมา ลาฟาแยตพร้อมกับทหารในบังคับบัญชา ๒,๐๐๐ คนถูกส่งไปรัฐเวอร์จิเนีย หน่วยทหารของเขาเป็นกองกำลังเดียวของฝ่ายอาณานิคมในรัฐนี้ เขาสามารถบีบล้อมกองทหารของลอร์ดชาลส์ คอร์นวอลลิส (Charles Cornwallis ค.ศ. ๑๗๓๘-๑๘๐๕) นายทหารที่อังกฤษส่งมาบัญชาการรบในเขตเซาท์แคโรไลนาและขึ้นมารอกำลังสมทบที่เมืองยอร์กทาวน์ (Yorktown) ในรัฐเวอร์จิเนีย คอร์นวอลลิสคาดว่า พลเอก เฮนรี คลินตัน (Henry Clinton) ผู้บัญชาการทหารอังกฤษในอเมริกาจะส่งกำลังมาเพิ่มจากทางทะเลแต่ยุทธการที่อ่าวเชสพีก (Battle of Chesapeake Bay) ระหว่างกองเรืออังกฤษกับกองเรือฝรั่งเศสที่มีพลเรือตรี ฟรังซัว เดอ กราส (François de Grasse) เป็นผู้นำสามารถสะกัดกั้นการส่งกำลังไปสมทบกับลอร์ดคอนวอลลิสสำเร็จ หลังจากที่ถูกกองเรือฝรั่งเศสและกองทหารอเมริกันดักล้อมอยู่ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๘๑ ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๘๑ คอร์นวอลลิสก็จำต้องยอมจำนนที่สมรภูมิยอร์กทาวน์ เมื่อข่าวนี้ไปถึงกรุงลอนดอน รัฐสภาอังกฤษก็ลงมติในต้นปีต่อมาให้ยุติการทำสงครามในทวีปอเมริกา
     ลาฟาแยตลากลับไปฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. ๑๗๘๒ และได้รับแต่งตั้งเป็นพลจัตวาในกองทัพฝรั่งเศส เขาทำงานกับเบนจามิน แฟรงกลิน (Benjamin Franklin ค.ศ. ๑๗๐๖-๑๗๙๐) เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำกรุงปารีสและยังเป็นธุระวิ่งเต้นให้รัฐบาลฝรั่งเศสช่วยเหลือด้านการทหารและการเงินแก่ฝ่ายอาณานิคมบุตรสาวของลาฟาแยตได้ถือกำเนิดขึ้นไม่นานก่อนที่การเจรจาสันติภาพยุติสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกาจะสิ้นสุดลง เขาตั้งชื่อบุตรสาวว่า วีร์ชีนี (Virginie) เพื่อเป็นที่ระลึกถึงกองทหารของเขาในเวอร์จิเนียที่เขารักใคร่ผูกพัน
     ใน ค.ศ. ๑๗๘๓ ลาฟาแยตซึ่งอายุ ๒๖ ปี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์กางเขนแห่งเซนต์หลุยส์ (Cross of St.Louis) จากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และยศพลตรีแห่งกองทัพฝรั่งเศส ลาฟาแยตยังคงสนใจอเมริกาอยู่ ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๓-๑๗๙๐ เขาใช้เวลาเจรจาหารือเพื่อเพิ่มพูนการค้าระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็หันไปสนใจประเด็นปัญหาสังคมด้วย เช่น การให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ในฝรั่งเศส การยกเลิกระบบทาสและการค้าทาส ใน ค.ศ. ๑๗๘๔ ลาฟาแยตเดินทางท่องเที่ยวในสหรัฐอเมริกาซึ่งเขาได้รับการต้อนรับอย่างดีมาก หลายรัฐมอบสถานะความเป็นพลเมืองให้แก่เขา บางกรณีสิทธินี้ตกทอดถึงลูกหลานของเขาซึ่งยังคงสงวนสิทธิพิเศษนี้ไว้
     ในช่วง ๕ ปีต่อมา ลาฟาแยตเป็นผู้นำกลุ่มชนชั้นสูงหัวเสรีนิยมและแสดงความเห็นอย่างแรงกล้าให้ล้มเลิกการค้าทาสและให้รัฐมีนโยบายทางศาสนาที่ยืดหยุ่น เมื่อฝรั่งเศสประสบภาวะวิกฤติทางการเงินจนเสนาบดีคลังเสนอให้ใช้มาตรการเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ลาฟาแยตซึ่งเป็นสมาชิกในสภาขุนนาง (Assembly of Notables) ก็ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดการประชุมสภาฐานันดรแห่งชาติ (Estates-General) เพื่อชี้ขาดมาตรการในการเก็บภาษีฐานันดรที่ ๑ และที่ ๒ ครั้นเปิดประชุมในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ เขาเป็นผู้แทนฐานันดรที่ ๒ จากแคว้นโอแวร์ญซึ่งเป็นถิ่นที่เกิด
     ลาฟาแยตสนับสนุนการจัดตั้งสภาแห่งชาติ (National Assembly) ของฐานันดรที่ ๓ ขึ้นแทนที่สภาฐานันดรแห่งชาติ ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ เขาเสนอร่างประกาศสิทธิแห่งมนุษย์และพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen) แก่สภาแห่งชาติซึ่งได้รับรองหลังจากแก้ไขข้อความเล็กน้อย และประกาศแก่สาธารณชนฝรั่งเศสในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ ประกาศนี้ชี้ให้เห็นว่าสังคมฝรั่งเศสที่มีชนชั้นและอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ตามระบบฟิวดัลได้ยุติลงแล้ว มนุษย์แต่ละคนมีคุณค่าตามความสามารถและอยู่ใต้กฎหมายเสมอกัน ลาฟาแยตร่างประกาศนี้โดยใช้คำประกาศอิสรภาพ (Declaration of Independence) ของอาณานิคมอเมริกาเป็นกรอบทางความคิดด้วย ก่อนที่สภาแห่งชาติจะให้ความเห็นชอบคำประกาศที่เขาร่างขึ้นนั้น ภายหลังเหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์ (Fall of the Bastille)* ในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ได้ ๑ วัน เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันภัยแห่งชาติประจำกรุงปารีส (Paris National Guard) เพื่อรักษาระเบียบและความสงบในเมืองหลวงและเพื่อให้ประชาชนอุ่นใจว่าชีวิตและทรัพย์สินจะได้รับการปกป้อง
     ในช่วงเวลานั้น นับได้ว่าเป็นช่วงที่ชื่อเสียงของลาฟาแยตพุ่งขึ้นสูงสุด เขาได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษของ ๒ โลก (Hero of Two Worlds) ลาฟาแยตภูมิใจในการทำหน้าที่รักษาความสงบให้แก่ประเทศในขณะที่สภาแห่งชาติกำลังร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสถาปนาระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งลาฟาแยตเห็นว่าจะเป็นการรับข้อดี ๆ ของสถาบันการเมืองทั้งของอังกฤษและสหรัฐอเมริกามาใช้ กองกำลังป้องกันภัยแห่งชาติของลาฟาแยตได้มีส่วนช่วยคุ้มครองพระราชวงศ์ในการเสด็จจากพระราชวังแวร์ซาย (Versailles) มาประทับที่กรุงปารีส หลังจากฝูงชนจำนวนหนึ่งที่ประกอบด้วยผู้หญิงชั้นกรรมาชีพหลายคนเดินขบวนไปที่พระราชวังแวร์ซายในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ เพื่อให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ แก้ปัญหาความขาดแคลนอาหารของคนในเมืองหลวงและบังคับให้พระราชวงศ์เข้ามาประทับในกรุงปารีส กษัตริย์จะได้อยู่ในสายตาของประชาชนตลอดเวลา เพราะขณะนั้นมีข่าวลือต่าง ๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ จนทำให้ประชาชนไม่มั่นใจว่าพระองค์ต้องการทำลายการปฏิวัติหรือไม่
     หลังเหตุการณ์การเสด็จหนีออกนอกประเทศของพระราชวงศ์ใน ค.ศ. ๑๗๙๑ ซึ่งล้มเหลว สถานะของสถาบันกษัตริย์ยิ่งเสื่อมลง ประชาชนจำนวนมากสูญสิ้นศรัทธาและความจงรักภักดีในองค์ประมุขเพราะเชื่อว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงขอความช่วยเหลือจากต่างชาติให้มาทำลายการปฏิวัติ แม้ว่าลาฟาแยตจะเชิดชูเสรีภาพของประชาชน แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกอย่างรุนแรงของพลเมืองบางกลุ่มบางเหล่า และตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติกำลังไร้ระเบียบและเกินวิสัยที่จะควบคุมได้ ในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๑ เกิดการเดินขบวนของฝูงชนไร้อาวุธไปที่ชอง เดอมาร์ (Champ de Mars) เพื่อเรียกร้องให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ สละราชสมบัติเพราะการเสด็จหนีชี้ให้เห็นว่าพระองค์ไม่เหมาะสมที่จะเป็นประมุขอีกต่อไปลาฟาแยตไม่เห็นด้วยกับการที่จะล้มเลิกระบอบกษัตริย์เมื่อฝูงชนแสดงออกอย่างรุนแรง กองกำลังป้องกันภัยแห่งชาติของเขาจึงต้องยิงผู้ประท้วงจนเกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ๕ คน สถานะของลาฟาแยตเสื่อมลงอย่างรวดเร็วในสายตาของชาวปารีส เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๑ แล้ว เขาจึงลาออกจากกองกำลังป้องกันภัยแห่งชาติประจำกรุงปารีสและใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างสงบ
     แต่ไม่กี่เดือนต่อมา ฝรั่งเศสประกาศสงครามกับออสเตรีย ลาฟาแยตถูกเรียกกลับมาบัญชาการรบบริเวณพรมแดน ขณะที่ต้องรับผิดชอบกับการรบลาฟาแยตยังคงติดตามสถานการณ์ในกรุงปารีสด้วยเขาไม่พอใจกลุ่มหัวรุนแรงต่าง ๆ ที่พยายามบีบคั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และไม่เห็นด้วยที่กลุ่มชาโกแบง (Jacobin)* ครอบงำสภาแห่งชาติ ท่าทีของลาฟาแยตเป็นที่รับรู้ในหมู่นักปฏิวัติหัวรุนแรง หลังจากที่มีการลงมติล้มเลิกระบอบกษัตริย์ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ หนึ่งอาทิตย์ต่อมา สภาแห่งชาติก็ผ่านร่างกฎหมายถอดถอนลาฟาแยตออกจากตำแหน่งลาฟาแยตซึ่งไม่ได้ทำชัยชนะให้แก่ฝ่ายกองทัพฝรั่งเศสและมักจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำแก่ข้าศึกจึงคาดว่าจะต้องถูกลงโทษด้วยเครื่องกิโยตินอย่างแน่นอน ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม เขาจึงข้ามพรมแดนฝรั่งเศสไปยังเมืองลีแอช (Liège) โดยวางแผนว่าจะแล่นเรือออกจากเนเธอร์แลนด์ไปยังสหรัฐอเมริกา เขาถูกออสเตรียจับกุม และจำขังในฐานะเป็นผู้นำการปฏิวัติฝรั่งเศสคนสำคัญ
     ลาฟาแยตต้องใช้ชีวิตอยู่ในคุกออสเตรียและปรัสเซียเป็นเวลา ๕ ปี บุตรชายคนเดียวของเขาถูกส่งไปอยู่กับประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันเพื่อความปลอดภัย ส่วนภรรยาและบุตรสาว ๒ คนไปใช้ชีวิตในคุกกับเขาด้วยใน ค.ศ. ๑๗๙๕ จนกระทั่งนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Nepoleon Bonaparte)* มาช่วยเขาและครอบครัวให้ได้รับอิสรภาพใน ค.ศ. ๑๗๙๗ และอนุญาตให้กลับฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๐๐ ลาฟาแยตไปใช้ชีวิตอยู่ที่ปราสาทลากรองช์ (La Grange) ซึ่งเป็นที่พำนักของเขาจนวาระสุดท้าย เมื่อนโปเลียนขึ้นดำรงตำแหน่งกงสุลที่ ๑ และเสนอจะให้ตำแหน่งและเกียรติยศแก่ลาฟาแยต เขาปฏิเสธที่จะรับเพราะคิดว่านโปเลียนคงจะไม่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนอันเป็นอุดมการณ์ที่เขายึดมั่นมาตลอด ลาฟาแยตจึงเลือกใช้ชีวิตเป็นคหบดีชาวนาและคงการติดต่อกับเพื่อนฝูงในสหรัฐอเมริกา
     เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๒๔)* ขึ้นครองราชย์ตามข้อตกลงของที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congrees of Vienna)* ซึ่งเป็นการกลับสู่อำนาจของราชวงศ์บูร์บง(Bourbon)* อีกครั้งหนึ่ง ลาฟาแยตก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทน (Chamber of Deputies) และร่วมเรียกร้องให้นโปเลียนสละราชสมบัติอีกครั้งหนึ่ง หลังการรบพ่ายแพ้ในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) เขาทำหน้าที่อยู่ในสภาผู้แทนเป็นเวลา ๖ ปี และในช่วงหลัง ๆ มักจะต่อต้านนโยบายของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ เพราะเขายึดหลักการเชิดชูเสรีภาพของประชาชน ลาฟาแยตแสดงตนอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนการปฏิวัติเพื่ออิสรภาพของประชาชนไม่ว่าจะในยุโรปหรือในลาตินอเมริกาซึ่งกำลังเคลื่อนไหวอยู่ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงเคลือบแคลงในตัวลาฟาแยตมากและพยายามกลั่นแกล้งเขาตลอดเวลา
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๒๕ ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร (James Monroe) ของสหรัฐอเมริกาเชิญลาฟาแยตไปเยือนสหรัฐอเมริกา เขาได้เดินทางไปทั่วทุกรัฐและได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษแห่งสหรัฐอเมริกาผู้มีความยึดมั่นและศรัทธาในเสรีภาพของมนุษย์ ถนนสวนสาธารณะ เมืองและเคาน์ตี (county) หลายแห่งได้รับการตั้งชื่อว่า "ลาฟาแยต" หรือ "ลากรองจ์" อันเป็นปราสาทที่เขาใช้ชีวิตอยู่เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
     เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐ (French Revolution 1830)* ลาฟาแยตได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาอีกครั้ง และเป็นผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันภัยแห่งชาติด้วย เขามีบทบาทในการโค่นล้มพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๓๐)* ซึ่งทำให้อำนาจของราชวงศ์บูร์บงสิ้นสุดลง ลาฟาแยตพยายามรักษาความสงบในประเทศในช่วงที่จะเปลี่ยนการปกครองให้เป็นเสรีนิยมมากขึ้น เขาสนับสนุนดุ๊กแห่งออร์เลอองหรือต่อมาคือพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* ซึ่งได้รับความนิยมจากพวกเสรีนิยมชนชั้นกลางสถาปนาราชวงศ์ออร์เลออง (Orléans) ขึ้นปกครองประเทศเพราะคิดว่าเป็นการปกครองระบอบกษัตริย์แต่การบริหารประเทศของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป มีสถาบันต่าง ๆ แบบสาธารณรัฐ อย่างไรก็ดี ไม่นานต่อมา กษัตริย์ของชนชั้นกลางทำให้ลาฟาแยตผิดหวัง เขาจึงลาจากแวดวงการเมืองใน ๖ เดือนต่อมา

     มาร์ กีเดอ ลาฟาแยตถึงแก่อนิจกรรมที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๓๔ ขณะอายุ ๗๗ ปี บทบาทของเขาที่ยกย่องและแสวงหาการให้เสรีภาพแก่ประชาชนในกรอบของกฎหมายอาจจะไม่ได้มีความสำคัญโดดเด่นมาก แต่ชื่อของเขาได้รับการกล่าวขวัญเป็นตำนานแห่งมิตรภาพระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐอเมริกาเป็นเวลายาวนานหลังจากเขาเสียชีวิต ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* มีการกล่าวกันว่า พลตรี จอห์น เพอร์ชิง (John Pershing) ผู้บัญชาการกองกำลังปฏิบัติการนอกประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (American Expeditionary Force) ในยุโรปที่เข้าไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ได้เปล่งวาจาขึ้นว่า "เรามาแล้วลาฟาแยต" (We are here, Lafayette) ทันทีที่กองทัพอเมริกันได้ก้าวบนแผ่นดินฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๗.



คำตั้ง
Lafayette, Marie-Joseph-Paul-Yves-Roch-Gilbert du Motier, Marquis de
คำเทียบ
มารี-โชแซฟ-ปอล-อีฟว์-รอช-ชิลแบร์ ดู โมตีเย มาร์กี เดอ ลาฟาแยต
คำสำคัญ
- ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- โอแวร์ญ, แคว้น
- เดอมาร์, ชอง
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- กลุ่มชาโกแบง
- ลีแอช, เมือง
- สภาขุนนาง
- บูร์บง, ราชวงศ์
- สภาแห่งชาติ
- แวร์ซาย, พระราชวัง
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ประกาศสิทธิแห่งมนุษย์และพลเมือง
- สภาฐานันดรแห่งชาติ
- หลุยส์ พิลิป, พระเจ้า
- แฟรงกลิน, เบนจามิน
- เหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- กองกำลังป้องกันภัยแห่งชาติประจำกรุงปารีส
- มอนโร, เจมส์
- ลาฟาแยต, มารี-โชแซฟ-ปอล-อีฟว์-รอช-ชิลแบร์ดู โมตีเย มาร์กี เดอ
- ชาร์ลที่ ๑๐, พระเจ้า
- โนอาย, อาเดรียน เดอ
- เพอร์ชิง, จอห์น
- มหาอำนาจกลาง
- สมัยภูมิธรรม
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐
- ดายอง, ดุ๊ก
- กราส, ฟรังซัว เดอ
- คอร์นวอลลิส, ลอร์ดชาลส์
- หลุยส์ที่ ๑๖, พระเจ้า
- คลินตัน, เฮนรี
- สงคราม ๗ ปี
- ยุทธการที่อ่าวเชสพีก
- หลุยส์ที่ ๑๘, พระเจ้า
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- ออร์เลออง, ราชวงศ์
- กองกำลังปฏิบัติการนอกประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1757-1834
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๐๐-๒๓๗๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf